Tag Archives: Silica Gel

Silica Gel อันตรายจริงไหม?

เชื่อกันว่าทุกคนคงรู้จักสารกันชื้นกันดี ก็คือซองที่อยู่ในขนมกรุบกรอบและขวดยา สารกันชื้นมีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ Silica Gel    ซึ่งสกัดจากทรายขาวผสมกำมะถัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซิลิกอนไดออกไซด์ เป็นเม็ดกลมๆ มีหลายสี ส่วนสาเหตุที่ต้องใส่สารกันชื้นลงในผลิตภัณฑ์ ก็เพราะความชื้นทำให้คุณสมบัติของสินค้าเปลี่ยนไป เช่นถ้าเป็นยาก็มีคุณสมบัติไม่เหมือนเดิม เครื่องหนังเมื่อได้รับความชื้น รูปทรงจะเปลี่ยนและเกิดเชื้อราได้ง่าย ส่วนขนมกรุบกรอบถ้าโดนความชื้นก็จะเสียความกรอบไป

Silica Gel    ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่

แต่สำหรับเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น ผู้ปกครองต้องระวังให้ดี เพราะล่าสุดผู้ปกครองรายหนึ่งได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า บุตรของตนวัยขวบเศษถูกเด็กแถวบ้านปาสารกันชื้นในถุงใส่ แล้วซองบรรจุสารกันชื้นแตก ทำให้ซิลิก้า เจลที่บรรจุอยู่กระเด็นเข้าตา เด็กร้องไห้และเจ็บนัยน์ตามาก แต่เมื่อไปพบแพทย์กลับไม่สามารถรักษาทัน เพราะสารทำปฏิกิริยากับดวงตาทำให้ตาบอด ดังนั้นสังคมควรจะเตือนภัยเรื่องนี้ให้รัดกุมกว่านี้

ระวังสารตะกั่วในเครื่องทำน้ำเย็น

เดี๋ยวนี้เครื่องทำน้ำเย็นไม่เพียงใช้กันในที่สาธารณะอย่างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือที่ทำงานเท่านั้น บางบ้านยังมีใช้กันเลย กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เนื่องจากบ้านเราร้อนเหลือใจ แต่ทำเล่นไป เครื่องทำน้ำเย็นเป็นตัวปล่อยสารตะกั่วที่น่ากลัว เพราะภายในเครื่องทำน้ำเย็นมีการบัดกรีบริเวณมุมขอบภายในเครื่องด้วยตะกั่ว การเชื่อมถังน้ำดื่ม การขึ้นรูปเครื่อง การเชื่อมลูกลอยกับก้านส่วนที่สัมผัสกับน้ำดื่ม และการบัดกรีท่อจ่ายน้ำดื่ม ทั้งหมดล้วนเป็นโอกาสและสาเหตุที่ทำให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำดื่ม

ตะกั่วเป็นสารพิษที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ และสะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต หัวใจ สมอง กระเพาะอาหาร ไขกระดูก และบริเวณที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ พิษของตะกั่วจะทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้นิ้วเท้าและมือเป็นอัมพาต ทำลายเซลล์สมอง หลอดเลือดฝอย ทำให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียและฉุนเฉียว ถ้าเป็นมากจะปวดศีรษะ ความรู้สึกสับสน ความจำเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ โลหิตจาง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดการตกเลือด เพ้อ ชัก เป็นอัมพาต หมดสติถึงตายได้

ตอนนี้ทางหน่วยงานรัฐกำลังหามาตรการที่จะควบคุมมาตรฐานของเครื่องทำน้ำดื่มเพื่อไม่ให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ข้อมูลจากวารสารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค